ข้อมูลก่อนความขัดแย้ง
ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ หรือ ศรีสะเกษ เอฟซี เริ่มทำการแข่งขันฟุตบอลในประเทศไทย ในปี 2542 โดยทำการแข่งขันในรายการไทยแลนด์โปรวินเชียล ลีก ซึ่งเป็นการก่อตั้งโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย โดยจัดเป็นโครงการนำร่อง 5 ปี โดยครั้งนั้น บุญชง วีสมหมาย เป็นประธานสโมสร และในปีแรกที่ก่อตั้ง ก็ได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขันไทยแลนด์โปรวินเชียล ลีก ทันที
จากนั้นสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ ก็เข้าร่วมแข่งขันไทยแลนด์โปรวิลเชียล ลีก เรื่อยมา โดยใช้ชื่อทีมว่า "ศรีสะเกษ สตีลร็อก" แต่ไม่สามารถทำผลงานชนะเลิศเพิ่มเติมได้ จนถึงปี 2546 จบฤดูกาลที่อันดับ 5 ของตารางคะแนน
ต่อมาในยุคของฟุตบอลลีกอาชีพ ปี 2550 สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ เปลี่ยนชื่อเป็น "กูปรีอันตราย" เข้าทำการแข่งขัน โดยในปีนั้นเป็นการรวมสองลีกเข้าด้วยกัน คือ ไทยแลนด์ลีก และ ไทยแลนด์โปรวินเชียลลีก โดยทีม "กูปรีอันตราย" ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ไทยลีกดิวิชั่น 1 กลุ่ม B ร่วมกับอีก 12 ทีม ได้อันดับ 10 ตกชั้น ไปเล่นไทยลีกดิวิชั่น 2
ปี 2551 ในการแข่งขันไทยลีกดิวิชั่น 2 ทีมสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ จบการแข่งขันด้วยอันดับ 4 จึงสามารถพาตัวเองกลับมาเล่นในไทยลีกดิวิชั่น 1 และในปีถัดมา 2552 สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษก็สามารถเก็บสะสมแต้ม จนจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 ได้เลื่อนชั้นไปเล่นในไทยพรีเมียร์ลีกใน ปี 2553
ในระหว่างนั้น สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันพุธที่ 9 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2552 ในชื่อ บริษัท สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ จำกัด
ในปี 2554 สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ ได้ทำการแข่งขันในไทยพรีเมียร์ลีก ตามปกติ
ต่อมาปี 2555 สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ ในเวลานั้นใช้ชื่อว่า "ศรีสะเกษ เมืองไทย เอฟซี" ได้ทำการเปลี่ยนชื่อทีมเป็น "อีสาน ยูไนเต็ด" สำหรับการแข่งขันฤดูกาล 2555 ทั้งนี้ยังได้ทำการย้ายสนามเหย้าไปใช้สนามกีฬาทุ่งบูรพา หลังจากย้ายที่ตั้งมาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี อีสาน ยูไนเต็ด จบฤดูกาลด้วยอันดับ 6
ประเด็นปัญหา
ปัญหามันเริ่มจากตรงนี้ เริ่มแรกในการทำทีมฟุตบอล ศรีสะเกษ นั้นมีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ ธเนศ เครือรัตน์, สรศาสตร์ ศรีธัญรัตน์ และ สมบัติ เกียรติสุรนนท์ แต่ภายหลังปรากฏว่าทาง สรศาสตร์ ศรีธัญรัตน์ และ สมบัติ เกียรติสุรนนท์ ได้ออกมาตั้ง บริษัท อีสาน ยูไนเต็ด โดยมีชื่อ ธเนศ เครือรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นด้วย และส่งทีมเข้าร่วมฟาดแข้งในฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก โดยมี ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธาน บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด (ทีพีแอล) ให้การรับรองและยืนยันให้สิทธิ์เข้าแข่งขันได้เมื่อฤดูกาล 2555 ที่ผ่านมา ทั้งที่ทางฝ่ายสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี นั้นพยายามคัดค้านแต่ไม่เป็นผล
การส่งทีม อีสาน ยูไนเต็ดเข้าแข่งขัน ยังได้ทำการย้ายสนามเหย้าจาก สนามศรีนครลำดวน จังหวัดศรีสะเกษ ไปเป็น สนามทุ่งบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี อีกด้วย ทั้งนี้ท่ามกลางแฟนคลับจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย รวมถึง ธเนศ เครือรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตประธานสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี ที่ขอค้านหัวชนฝา (ข่าว)
(เกร็ดข้อมูล : ในระหว่างที่อยู่ในทีมศรีสะเกษ เอฟซี ทีมงานบริหารได้แก่ ธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ ประธานสโมสรพร้อมด้วย สรศาสตร์ ศรีธัญรัตน์ อดีตเลขาธิการ หอการค้า ศรีสะเกษ เป็นผู้จัดการทีม และ สมบัติ เกียรติสุรนนท์ นายกสมาคมกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้จัดการทั่วไป พร้อมกับฝ่ายสิทธิประโยชน์ของทีม - อ้างอิง)
โดยทางสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี ได้ชี้แจงว่าทางสโมสรอีสานยื่นเอกสารปลอม ทำให้ได้สิทธิ์ไปเล่นไทยพรีเมียร์ลีก 2555 ซึ่งทางทีมงานศรีสะเกษ เอฟซี ได้ยื่นเรื่องนี้มาตลอด 1 ปี แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ยืนยันว่าทางอีสาน ยูไนเต็ด ถูกต้อง และเมื่อปิดฤดูกาลทาง ศรีสะเกษ เอฟซี ได้ส่งเอกสาร ยืนยันไปอีกครั้งว่า ทางอีสาน ยูไนเต็ด ปลอมแปลงลายเซ็นขอให้ บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด กลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ปรากฏว่าเรื่องนี้ทาง บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ซึ่งเป็นผู้พิจารณารับทีมเข้าร่วมกลับโยนเรื่องไปให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยพิจารณา ซึ่งสมาคมฟุตบอลฯ ได้แต่งตั้ง ถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธานพิจารณาสิทธิ์ในเรื่องนี้ พร้อมกับพิจารณาและตัดสินออกมาว่าสิทธิ์การทำทีมตกอยู่ที่ ธเนศ เครือรัตน์ ที่เป็นคู่กรณีและเป็นผู้ถือหุ้นร่วม
ทำให้เมื่อเปิดฤดูกาลแข่งขัน 2556 สโมสรศรีสะเกษ เอฟซี จึงได้ลงสนามแทนสโมสรอีสาน ยูไนเต็ด ที่มีการเตรียมทีมเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้จึงมีการฟ้องต่อศาลปกครองอุบลราชธานี (ข่าว)
ซึ่งในระหว่างนั้น ศรีสะเกษ เอฟซี ได้ทำการแข่งขันในช่วงเปิดฤดูกาลไปแล้ว 3 นัด ได้แก่นัดที่พบกับ ชัยนาท เอฟซี (เหย้า), เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด (เหย้า) และ สงขลา ยูไนเต็ด (เยือน)
หลังจากศาลปกครองอุบลราชธานี ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลฯ ที่ให้สโมสรศรีสะเกษ เอฟซี เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2556 โดยกำหนดเงื่อนไขว่าให้ บริษัท อีสาน ยูไนเต็ด จำกัด ที่มีนายธเนศ, นายสมบัติ์, นายสรศาสตร์ ทั้ง 3 คนร่วมกันบริหารสโมสรอีสาน ยูไนเต็ด เข้าแข่งขันในฟุตบอลโตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2013 ทั้งนี้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (คำสั่ง ณ วันที่ 28 มีนาคม 2556)
จึงเป็นอันว่าทำให้ทางสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี ที่ลงสนามฟาดแข้งไปแล้ว 3 นัดต้องหยุดส่งทีมเข้าทำการแข่งขันทันที
พอเกิดเรื่อง ธเนศ เครือรัตน์ ประธานสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี ก็ต้องไปศาลปกครองอุบลราชธานี ในวันที่ 22 เมษายน 2556 เพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ตามข้างต้น (ข่าว)
ผลกระทบต่อศรีสะเกษ เอฟซี
เหตุการณ์สูญญากาศของทีม สโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ เอฟซี ล่วงมาจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ศาลปกครองอุบลราชธานี มีคำสั่ง ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำฟ้องของ อีสาน ยูไนเต็ด ส่งผลให้ "กูปรีอันตราย" ศรีสะเกษ เอฟซี สามารถกลับมาแข่งขัน ในศึกโตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลนี้ได้อีกครั้ง (ข่าว)
แต่การได้สิทธิการแข่งขันคืนมา หลังจากฤดูกาลปกติล่วงเลยไปเกือบ 5 เดือน โดยที่ทีมสโมสรอื่น แข่งกันไปมากกว่า 23-24 นัด และเหลือเกมการแข่งขันตามกำหนดการเดิมประมาณ 10 นัด หรือประมาณ 2 เดือนเศษ จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่ทีมศรีสะเกษ เอฟซี จะกลับมาแข่งขันให้ทันการปิดฤดูกาลตามปกติ แม้ว่าจะมีคนเสนอให้ทำการแข่งขันเก็บตกแบบมาราธอน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ทั้งเรื่องเวลาที่จำกัด และจำนวนนักฟุตบอลที่คงเหลืออยู่กับทีม
และผลจากการที่ศรีสะเกษ เอฟซี ถูกแช่แข็งไม่ให้ทำการแข่งขัน เป็นเวลานานเกือบ 5 เดือนนั้น ทางผู้บริหารของ ศรีสะเกษ เอฟซี มองว่า ไม่ใช่ความผิดของทางสโมสร เพราะการได้สิทธิในการทำทีมเป็นการได้รับการอนุญาตจากทาง ทีพีแเอล อย่างถูกต้อง และถ้าจะถูกตัดสิทธิการแข่งขันในฤดูกาลหน้า เพราะมีคะแนนสะสมน้อยที่สุด เป็นการไม่เป็นความชอบธรรมต่อศรีสะเกษ เอฟซี เนื่องจากถูกสั่งห้ามทำการแข่งขัน
ทางออกของสมาคมฟุตบอล และ ทีพีแอล
วันที่ 30 สิงหาคม 2556 สมาคมฟุตบอล มีมติคงสิทธิการแข่งขันในไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาลหน้าให้กับศรีสะเกษ เอฟซี เช่นเดิม แต่จะใช้วิธีการเพิ่มจำนวนสมาชิกในลีกสูงสุดเป็น 20 ทีม และให้ยกเลิกคะแนนที่เกิดขึ้นจากการที่ศรีสะเกษ เอฟซี ทำการแข่งขัน ไปเมื่อต้นฤดูกาล โดยหักจากชัยนาท เอฟซี 1 คะแนน และหักจาก เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และ สงขลา ยูไนเต็ด ทีมละ 3 คะแนน
และเมื่อจบการแข่งขัน จะมีเพียง 1 ทีม ที่ถูกลดชั้นไปแข่งขันใน ยามาฮา ลีก 1 และจะรับ 3 ทีมขึ้นมาตามปกติ ทำให้ในฤดูกาล 2557 การแข่งขัน ไทยพรีเมียร์ลีก จะมีทีมสโมสรร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 20 ทีม ทั้งนี้จะมีผลต่อการลดชั้นและเลื่อนชั่นของระดับรองด้วย กล่าวคือ ยามาฮา ลีก 1 จะมีทีมเลื่อนชั้นไปเล่นในไทยพรีเมียร์ลีก 3 ทีม เช่นเดิม แต่ทีมที่ตกชั้นไปเล่นใน ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 จำนวน 2 ทีมเท่านั้น ส่วนการเลื่อนชั้นจาก ลีกภูมิภาค ไปเล่น ลีกดิวิชั่น 1 ยังเป็น 4 ทีม เช่นเดิม (ข่าว)
ผลกระทบต่อไทยพรีเมียร์ลีก
หลังจากสมาคมฟุตบอล และ ทีพีแอล ได้ประกาศมาตรการทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าว ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายสโมสร ว่าการเพิ่มทีมเป็น 20 ทีม ในฤดูกาลหน้า ไม่ใช่เหมาะสมเพราะจะทำให้มีเกมการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดย อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสร “ฉลามชล” ชลบุรี เอฟซี กล่าวว่า ตอนตัดสินใจให้ย้ายไปเล่นที่อุบลฯ ไม่เคยเรียกประชุม แต่พอมีปัญหา กลับทำหนังสือเชิญประชุมด่วน ชี้ สมาคมฯ ผิดตั้งแต่อนุมัติให้กูปรีไปเล่นที่อุบลฯแล้วพร้อมยืนยันไม่เห็นด้วยกรณีเพิ่มทีม ปีหน้าเป็น 20 ทีม และเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่สโมสรชลบุรี เอฟซี ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม เพื่อเป็นการแสดงออกว่า เราไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น อีกทั้งในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารไทยลีก เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งชลบุรี เป็นบอร์ดด้วย ตัวแทนของเรา ก็ได้เสนอไปแล้วว่า ไม่ขอออกความคิดเห็นกับปัญหาทีมศรีสะเกษในขณะนี้
“ที่สโมสรชลบุรี แสดงออกแบบนี้ เนื่องจาก ตอนที่สมาคมฟุตบอลฯ ตัดสินใจ ย้ายทีมศรีสะเกษ ไป อุบลฯ สมาคมฯ และ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก ไม่เคยสอบถาม และ ไม่เคยให้เราร่วมตัดสินใจเลย แต่พอเวลา มีปัญหากลับเรียกชลบุรี และ เพื่อนๆร่วมลีกมาช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อสร้างภาพ และแสดงความชอบธรรมให้กับตัวเอง ซึ่งอันนี้มันไม่ถูกต้อง”
“มันผิดตั้งแต่ต้น สมาคมฯ ไม่ควรให้ ศรีสะเกษ ย้ายไป อุบลฯ ผมเห็นด้วยที่จะคืนสิทธิ์แข่งขันให้ศรีสะเกษ แต่การที่จะให้ทุกๆสโมสรไปร่วมรับผิดชอบ กับการแก้ปัญหานี้มันไม่ใช่ สมาคมฯ จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งผมไม่แปลกใจถ้าจะมีสโมสรใดสโมสรหนึ่งฟ้อง เพื่อเรียกร้องความเสียหายกับปัญหาในครั้งนี้”
“ผมตั้งขอสังเกตอย่างนี้น่ะ ส่วนตัวผมคิดว่าสมาคมฯ ตั้งธงที่จะช่วยศรีสะเกษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ผลประโยชน์ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็น คะแนนเสียงที่จะเลือกตั้ง หรือ การแก้กฎหมาย และ กฎระเบียบต่างๆ ใน พรบ.กีฬาอาชีพฉบับใหม่ที่จะคลอดออกมาในเร็วๆนี้”
"ส่วนเรื่องการเพิ่มทีม เป็น 20 ทีม ผมคิดว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีอย่างแน่นอน เพราะ 18 ทีมที่มีอยู่ก็มากเกินไปที่ผ่านมาเกิดปัญหามากมาย ยิ่งเพิ่มทีมก็มีปัญหามากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะทำให้ลีกของเรามีคุณภาพต่ำลง ถ้าต้องการให้ลีกเรา มีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีคะแนนจาก เอเอฟซี เพิ่มขึ้น ก็ต้องลดจำนวนทีมลงมา ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มทีมในครั้งนี้ นอกจากนี้ ผมยังมานั่งคิดดูว่า ถ้าเป็นทีมฝั่งตรงข้ามกับสมาคมฯ เจอกรณีเดียวกันกับ ศรีสะเกษ สมาคมฯ คงไม่ตัดสินออกมาแบบนี้แน่ คงจะเป็นอีกอย่าง” รองประธานสโมสรชลบุรี กล่าวปิดท้าย (ข่าว)
ด้าน ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ผู้จัดการทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แสดงความกังวลกับมติของสภากรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่เห็นชอบให้มีการเพิ่มจำนวนทีมไทยพรีเมียร์ลีกจาก 18 เป็น 20 ทีมตั้งแต่ฤดูกาล 2014 เป็นต้นไป โดยเฉพาะปัญหาการจัดโปรแกรมแข่งขันของทีพีแอลที่เกิดขึ้นมาตลอด โดยสมาคมฟุตบอลฯ ตัดสินใจช่วยเหลือศรีสะเกษ เอฟซี ให้คงสิทธิ์ในลีกสูงสุดต่อไปโดยใช้วิธีการลดโควต้าจำนวนทีมที่ตกชั้นจาก 3 เหลือแค่ 1 ทีม ส่วนดิวิชั่น 1 ยังขึ้นชั้น 3 ทีมเท่าเดิมทำให้สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีกจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 20 ทีมในปีหน้าและจำนวนแมตช์จะเพิ่มจาก 306 แมตช์เป็น 380 แมตช์
ผู้จัดการทีมหนุ่มของปราสาทสายฟ้า ซึ่งไปร่วมประชุมกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาให้ความเห็นว่า "การเพิ่มจำนวนทีมจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าทีพีแอลสามารถบริหารจัดการโปรแกรมให้เกิดความลงตัวได้ แต่ก็ต้องถามทีพีแอลว่าทำได้หรือเปล่า"
"เมื่อมีจำนวน 20 ทีมแน่นอนว่าแต่ละทีมก็ต้องแข่งเพิ่มอีก 4 แมตช์ ถามว่าทีพีแอลจะทำอย่างไรเพราะทุกวันนี้ก็ยังมั่วอยู่ ไหนจะมีฟีฟ่าเดย์ของทีมชาติ ฟุตบอลสโมสรเอเชีย บอลถ้วยอีก 2 รายการ ซึ่งทีพีแอลก็ต้องรีบทำตารางออกมาให้ชัดเจน"
ก่อนหน้านี้ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง พูดเปรยในงานแถลงข่าวมีตเดอะเพรสไทยพรีเมียร์ลีกว่าหากจะต้องเพิ่มทีมเป็น 20 ทีมจริงก็อาจจะต้องเลื่อนกำหนดเปิดฤดูกาลเป็นช่วงเดือน ม.ค. และ ไปปิดฤดูกาลเดือน พ.ย. อย่างไรก็ตามภายหลังมีมติออกมาประธานทีพีแอลบอกว่าต้องขอเวลากลับไปทบทวนก่อน (ข่าว)