เมื่อวันศุกร์ 4 ธันวาคม 2558 ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ฟุตบอลไทย กับไทยศึกษา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก: การพนัน ความเป็นชาย วัยรุ่น และวัฒนธรรมบริโภคนิยม” ภายในงานเสวนาดังกล่าว ได้มีการนำเสนอหัวข้อ “ประสบการณ์สนามบอลของ “แม่-หญิง” - การสำรวจเบื้องต้น 5 สนาม” (เชียงใหม่ เอฟซี, เชียงราย ยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) โดย ปลายฟ้า นามไพร ผู้ช่วยนักวิจัยประจำโครงการฯ และเป็นนักศึกษาปริญญาโท สังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอ
ประสบการณ์สนามบอลของ “แม่-หญิง” - การสำรวจเบื้องต้น 5 สนาม
ปลายฟ้า นามไพร เกริ่นนำว่าการนำเสนอในครั้งนี้เป็นการสำรวจเบื้องต้น 5 สนาม ประกอบด้วย การท่าเรือ เอฟซี, บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, เชียงราย ยูไนเต็ด และ เชียงใหม่ เอฟซี ซึ่งเป็นเพียงบทสำรวจในช่วงเวลาที่เข้าไปเก็บข้อมูลให้กับชุดโครงการใหญ่ ทำให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจกับ “ผู้หญิง” ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของสนามฟุตบอล โดยไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมากนัก
ปลายฟ้า กล่าวว่า หากพูดถึงฟุตบอลกับผู้หญิง เริ่มมีกระแสความนิยมและเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือ ทีมชาติไทยหญิงสามารถเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2015 รอบสุดท้ายที่ประเทศแคนาดา ซึ่งทีมฟุตบอล ทีมชาติไทย (ชาย) ยังไม่สามารถทำได้ ทำให้มีความนิยมที่ว่า ผู้หญิงกับฟุตบอล เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำให้เกิดความสนใจกับผู้หญิงกลุ่มนั้น (นักกีฬา) อีกทั้งการเข้ามาของ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ (ผู้จัดการ ทีมฟุตบอล ทีมชาติไทยหญิง) มี “โค้ชหนึ่ง” หนึ่งฤทัย สระทองเวียน (หัวหน้าผู้ฝึกสอน ทีมชาติไทยหญิง) ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนผู้หญิง ที่ได้ผ่านการอบรมได้ประกาศนียบัตรระดับ เอ-ไลเซ่น คนแรกและคนเดียวของประเทศไทย
จากการเข้าไปสำรวจ ผู้สำรวจมองเห็นข้อมูลที่น่าสนใจในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งสามารถจัดกลุ่ม “ผู้หญิง” ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับ “ฟุตบอล” โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. กลุ่มสาวสวย 2. กลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ 3. กลุ่มแฟนบอล
“กลุ่มสาวสวย” เป็นกลุ่ม "ผู้หญิง" ที่ได้รับการว่าจ้างให้มาสร้างสีสันในสนามฟุตบอล แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้ 2 กลุ่ม คือ การว่าจ้างโดยสโมสรฟุตบอลโดยตรง หน้าที่หลักคือจัดกิจกรรมสร้างสีสัน ในช่วงก่อนการแข่งขัน ในช่วงพักครึ่งเวลา และหลังจบการแข่งขัน และ การว่าจ้างโดยผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอล
แต่ในปัจจุบัน การว่าจ้างโดยสโมสรฟุตบอล มีปริมาณที่น้อยลงมาก แต่กลับไปปรากฎในส่วนของการว่าจ้างโดยผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุนสโมสรมากขึ้น โดยในระหว่างพักครึ่งเวลาการแข่ง ก็มีกิจกรรมจับสลาก แจกของรางวัล โดยมี “ผู้หญิง” ที่ได้รับการว่าจ้างโดยผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุนสโมสรเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้
“กลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ” ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาจำหน่าย เครื่องดื่ม และอาหาร และอีกส่วนหนึ่งเป็น “เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย” ทั้งนี้ ผู้สำรวจพบ “ผู้หญิง” ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฉพาะที่ สนามเชียงราย ยูไนเต็ด ผู้สำรวจตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้หญิง” กลุ่มนี้ เป็นแฟนฟุตบอลชายขอบ ซึ่งมีความสำคัญในสนาม แต่ว่าไม่ถูกให้ความสำคัญ ไม่มีการกล่าวถึง แม้ว่าจะมีตัวตนอยู่ในพื้นที่นี้ก็ตาม
“กลุ่มแฟนบอล” ปรายฟ้า ได้แบ่งย่อยแฟนบอล ออกเป็นอีก 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1. แฟนบอลตัวจริง 2. แฟนคลับนักฟุตบอล 3. กลุ่มครอบครัว 4. ครอบครัวนักฟุตบอล
ผู้หญิงที่เป็นกลุ่มแฟนบอล
“แฟนบอลตัวจริง” ผู้หญิงกลุ่มนี้ มีช่วงอายุที่หลากหลาย พบเห็นได้ในทุกสนาม และเป็นส่วนหนึ่งในการเชียร์ มีส่วนร่วมกับเกม รู้จังหวะ รู้เกมการแข่งขัน ซึ่งบางครั้งในนัดเยือน แฟนบอลกลุ่มนี้ก็อาจจะตามไปเชียร์
“แฟนคลับนักฟุตบอล” ผู้หญิงกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นช่วงอายุวัยรุ่น เท่าที่ผู้สำรวจได้เข้าไปพูดคุยพบว่า “ผู้หญิง” กลุ่มนี้จะเข้ามาเชียร์นักกีฬาฟุตบอล แบบเฉพาะบุคคล โดยเมื่อจบเกมการแข่งขัน ก็จะรอพบกับนักฟุตบอลเพื่อถ่ายรูปคู่ ขอลายเซ็น รวมถึงส่งมอบของที่ระลึก เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับนักกีฬา ซึ่งแฟนคลับนักฟุตบอลนี้ จะพบได้กับสโมสรฟุตบอลที่ไดรับความนิยมระดับประเทศ เช่น เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด หรือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มีผู้เล่นที่มีชื่อเสียงร่วมอยู่ในทีม
ปลายฟ้า กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าไปพูดคุยพบว่าการเข้ามาเชียร์แบบรายบุคคล ไม่ใด้ชื่นชอบเพียงแค่รูปร่างหน้าตาของนักกีฬาเท่านั้น แต่กลับมีความเข้าใจในเกมการแข่งขัน ซึ่งหลังจบเกมหากได้มีโอกาสพบกับนักกีฬา ก็จะมีการพูดคุยถึงฟอร์มการเล่นของนักกีฬาด้วย
“กลุ่มครอบครัว” ผู้หญิงในกลุ่มนี้ จะมองเห็นได้ชัดเจนว่ามากับสามี หรือมากับลูก มีทั้งมาสนุกกับเกมการแข่งขัน และก็มีบางส่วนมาใช้ช่วงเวลาของการแข่งขันฟุตบอลเป็นการพักผ่อนกับครอบครัว จากการลงพื้นที่จะพบ “ผู้หญิง” กลุ่มครอบครัว ในสโมสรที่อยู่ในต่างจังหวัด
“ครอบครัวนักฟุตบอล” จากข้อมูลฟุตบอลในต่างประเทศ จะสามารถหาอ่านสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับครอบครัวนักฟุตบอล ที่ทำให้แฟนบอลได้รู้จัก แต่ในประเทศไทยผู้สำรวจไม่ทราบว่าใครเป็นครอบครัวของนักฟุตบอล แต่จากการลงพื้นที่สนาม เชียงราย ยูไนเต็ด หลังจบเกมการแข่งขันจะมีครอบครัวของนักกีฬาลงไปวิ่งเล่นในพื้นที่สนามฟุตบอล ทำให้เห็นกลุ่มชุมชนของครอบครัวนักฟุตบอลอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย
ปลายฟ้า กล่าวต่อว่า จากความแตกต่างของพื้นที่ในการสำรวจ สามารถทำให้เห็นความแตกต่างของ ความเป็น “แม่” และ ความเป็น “หญิง” โดยในสโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด หรือ การท่าเรือ เอฟซี จะพบ “ผู้หญิง” ที่มากับเพื่อน-เพื่อนร่วมงาน มากกว่าที่จะมากับครอบครัว และจะพบ “ผู้หญิง” ที่มากับครอบครัว อย่าง เชียงราย ยูไนเต็ด หรือ เชียงใหม่ เอฟซี มากกว่า
แต่สำหรับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กลับพบว่ามีทั้งกลุ่มที่เป็นครอบครัว และกลุ่มที่เป็นวัยรุ่น (ผู้สำรวจไปเก็บข้อมูลในเกมการแข่งขัน บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พบกับ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด) ผู้สำรวจตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด แต่ก็ได้รับความนิยมที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในท้องถิ่น ทำให้เห็นพื้นที่ของ “แม่” และ “หญิง” ในพื้นที่เดียวกัน
การร่วมกลุ่มของแฟนบอลหญิง
ปลายฟ้า พบว่าการร่วมกลุ่มของแฟนบอลหญิง จะไม่ปรากฎเด่นชัดในพื้นที่(สนามฟุตบอล) เหมือนแฟนบอลผู้ชาย แต่กลับไปปรากฎชัดในพื้นที่ของโลกออนไลน์แทน จากการเข้าไปพูดคุย ผู้สำรวจได้พบกลุ่มแฟนคลับนักฟุตบอลคนหนึ่ง ในแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 200 คน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของนักฟุตบอลที่ชื่นชอบ รวมถึงหากพบเจอข้อมูล หรือได้พบกับนักฟุตบอลคนอื่น ก็นำมาแลกเปลี่ยนกันด้วย
จากผลการสำรวจข้างตน และการพยายามทำความเข้าใจ ปลายฟ้า นามไพร ต้องการโต้แย้งกับมายาคติเกี่ยวกับ “ผู้หญิง” และ “ฟุตบอล” ที่ว่า ผู้หญิงมักจะถูกพิจารณาในฐานะของผู้ชมรองหรือตัวประกอบเสริมเท่านั้น อย่างในบทความที่ชื่อว่า “ภาพของแฟนบอลสาวสวยกับความเป็นหญิงและความเป็นชายในสังคมไทย” ที่เขียนโดย พิสิษฐ์กุล แก้วงาม ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาภาพปรากฎของแฟนบอล แล้วอธิบายว่าภาพของผู้หญิงที่ปรากฎในสื่อต่างๆ เป็นเพียง “ความเป็นหญิง” ที่ขับเน้น “ความเป็นชาย” ให้เข้มข้น และได้ถูกผลิตซ้ำให้กับวัฒนธรรม “ความเป็นชาย” แต่จากผลสำรวจของ ปลายฟ้า ทำให้เห็นว่า “ผู้หญิง” มีประสบการณ์ที่หลากหลาย และมีหลายกลุ่ม ซึ่งอาจต้องทำความเข้าใจให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะสรุปว่าผู้หญิงเป็นเพียงแค่ “ตัวขับเน้น” ให้กับความเป็นชายเท่านั้น
ในตอนท้าย ปลายฟ้า สรุปว่าจากการลงไปสำรวจและได้เห็น “ผู้หญิง” ในหลายกลุ่ม หรือนี่อาจเป็นไปได้ว่า “ผู้หญิงกำลังต่อรอง ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่อโครงสร้างของสังคมบางอย่าง ผ่านประสบการณ์และการแสดงออก” ซึ่งตามที่เกริ่นนำในข้างต้นว่าเป็นการสำรวจข้อมูลจาก 5 สนามเท่านั้น ผู้สำรวจจะทำการพัฒนาข้อมูลจากส่วนนี้ ไปสู่การวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ต่อไป