Skip to main content

การเลือกตั้ง ประธาน สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ที่จะถึงนี้ ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นการชิงตำแหน่งของ 5 ผู้สมัคร ได้แก่

  • เจ้าชาย อาลี บิน อัล ฮุสเซน (Prince Ali Al Hussein) นายกสมาคมฟุตบอลแห่งจอร์แดน และอดีตรองประธานฟีฟ่า ซึ่งลงสมัครชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่า เมื่อปีที่แล้ว * แต่แพ้ให้กับ เซ็ปป์ แบล๊ตเตอร์ ในการโหวต 73 ต่อ 133 เสียง และถอนตัวในเวลาต่อมา (ประกาศลงสมัครอีกครั้ง เมื่อ 9 กันยายน 2558)
  • ชีก ซัลมาน บิน อิบราฮิม อัล คาลิฟา (Salman Bin Ibrahim Al-Khalifa) ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) ชาวบาร์เรน (ประกาศลงสมัคร เมื่อ 15 ตุลาคม 2558)
  • เฌอโรม แชมเปญ (Jérôme Champagne) อดีตบอร์ดบริหารฟีฟ่า และอดีตนักการทูตชาวฝรั่งเศส (ประกาศลงสมัคร เมื่อ 23 ตุลาคม 2558)
  • โตเกียว เซ็กซ์เวล (Tokyo Sexwale) นักธุรกิจชาวแอฟริกาใต้ อดีตนักโทษการเมืองร่วมห้องขังกับ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิปดีและรัฐบุรุษของแอฟริกาใต้ผู้ล่วงลับ (ประกาศลงสมัคร เมื่อ 25 ตุลาคม 2558)
  • จานนี่ อินฟานติโน่ (Gianni Infantino) ทนายความสัญชาติสวัส-อิตาลี ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูฟ่าในปัจจุบัน (ประกาศลงสมัคร เมื่อ 26 ตุลาคม 2558)

ในจำนวน 5 ผู้สมัคร ชีก ซัลมาล บิน อิบราฮิม อัล คาลิฟา ถือเป็นตัวเต็งอันดับ 1 เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนแบบเอกฉันท์จากชาติสมาชิกในเอเชีย (ยกเว้น จอร์แดน) ซึ่งถือเป็นโซนที่มีสมาชิกมากเป็นอันดับต้นๆ ของฟีฟ่า

อีกทั้งยังสนิทสนมกับ ชีก อาหมัด อัล ฟาฮัด ซาบาห์ ประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ผู้กว่างขวางในวงการกีฬาโลก และชีก ซัลมาน เพิ่งขึ้นเป็นบอร์ดฟีฟ่าสดๆ ร้อนๆ ในการประชุมครั้งก่อน จึงน่าจะกุมคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยไว้ในมือ

ว่ากันว่าคู่แข่งพยายามหยิบประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ ชีก ซัลมาน มาโจมตี จากกรณี บาห์เรนลงโทษนักกีฬาบางส่วนที่ร่วมเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2011 ซึ่ง ชีก อัลมาน ปฏิเสธมาโดยตลอด

ส่วนตัวเต็งอันดับ 2 ของการชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่า คือ จานนี่ อินฟานติโน่ ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายเร่งเดินหาเสียงไปทั้ง 2 ฟากมหาสมุทรแปซิฟิก จนได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในยุโรป อเมริกาเหนือ และ อเมริกากลาง (คอนคาเคฟ) และ อเมริกาใต้บางส่วน โดยมี เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ โจเซ่ มูรินโญ่ ออกมาสนับสนุนผ่านสื่ออย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สื่อบางส่วนมองว่า จานนี่ อินฟานติโน่ เปรียบเสมือนตัวตายตัวแทนของ มิเชล พลาตินี่ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับทายาทผู้สืบทอดของ แบล๊ตเตอร์ แม้ว่าทั้งคู่จะยืนกรานปฏิเสธ ซึ่งหากหวังจะตัดรากถอนโคนขั้วอำนาจเก่าให้ขาด ก็อาจจำเป็นต้องให้อำนาจเปลี่ยนมือไปอยู่กับพื้นที่อื่นบ้าง

สำหรับเจ้าชาย อาลี บิน อัล ฮุสเซน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ที่มีเพียง แบล๊ตเตอร์ เป็นคู่แข่งเพียงคนเดียว เสียงจากฝ่ายตรงข้ามจึงเทมาที่เจ้าชายทั้งหมด แต่ในปีนี้เมื่อสมาชิกจากเอเอฟซี หันไปสนับสนุน ชีก อัลมาน เกือบทั้งหมด เจ้าชาย อาลี จึงไม่น่าจะมีบทบาทใดๆ เช่นเดียวกับ แชมเปญ และ เซ็กซ์เวล ที่มองว่าเป็นเพียงไม้ประดับในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

* หมายเหตุ: ในการเลือกตั้งประธาน ฟีฟ่า ครั้งก่อน วันที่ 29 พฤษภาคม 2558 เซ็ปป์ แบล๊ตเตอร์ เอาชนะ เจ้าชาย อาลี บิน อัล ฮุสเซน ด้วยคะแนน 133 ต่อ 73 (ในกระบวนการเลื่อกตั้ง เจ้าชาย อาลี ประกาศถอนตัวในเวลาต่อมา) ซึ่งนับเป็นการอยู่ในตำแหน่ง ประธานฟีฟ่า สมัยที่ 5 ติดต่อกัน

แต่ภายหลังการเลือกตั้งเพียงแค่ 4 วัน แบล๊ตเตอร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวเรื่องการจับกุมตัวกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟีฟ่านับ 10 ราย ถึงห้องพักในโรงแรม ในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนการเลือกตั้ง ด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น

เมื่อ เซ็ปป์ แบล๊ตเตอร์ ประกาศลาออก ฟีฟ่า ได้กำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญชาติสมาชิกวาระเลือกตั้งประธานคนใหม่ ณ ทีทำการฟีฟ่า ในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559

 

ข้อมูลจาก มติชน รายวัน ฉบับวันอังคาร 23 กุมภาพันธ์ 2559 และ Wikipedia : 2016 FIFA Extraordinary Congress65th FIFA Congress

 

อ่านรายละเอียดผลการเลือกตั้ง : จานนี่ อินฟานติโน่ เลขาธิการยูฟ่าคนปัจจุบัน ได้รับเลือกให้เป็นประธานฟีฟ่า คนล่าสุด

จานนี่ อินฟานติโน่ (Gianni Infantino) ประธานฟีฟ่า คนล่าสุด (2016-2019)