วันอังคาร 8 มีนาคม 2559 ที่สตูดีโอ สยามสปอร์ต ซอยรามอินทรา 40 นำโดย อดิศัย วารินทร์ศิริกุล ประธานกรรมการ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคต จำกัด (มหาชน) และ สรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ ร่วมแถลงข่าว กรณีสภากรรมการ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศยกเลิกการดูแลสิทธิประโยชน์ ที่่ บริษัท สยามสปอร์ต ได้รับมอบจาก สมาคมฟุตบอลฯ เมื่อวันจันทร์ 7 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
ในการแถลงข่าว อดิศัย วารินทร์ศิริกุล ชี้แจงใน 4 ประเด็น ตามที่สภากรรมการ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยระบุเอาไว้ ดังนี้
ประเด็น: สยามสปอร์ตทำสัญญาผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว
สยามสปอร์ต ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 10 กว่าปีก่อน มีบริษัทเอกชน เข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์ของ สมาคมฟุตบอลฯ แต่สุดท้ายก็ถอนตัวออกไปเพราะประสบปัญหาขาดทุน ต่อมา ผู้บริหารสมาคมฟุตบอลฯ ในสมัยนั้น ได้เข้าหารือกับ บริษัท สยามสปอร์ต เพื่อขอให้เข้ามาช่วย ซึ่งใน 5 ปีแรก บริษัทฯ ต้องขาดทุน ก่อนที่จะมีการฟื้นตัวจนถึงปัจจุบัน ที่มีรายได้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นเรื่องความสามารถ ที่บริษัทฯ สามารถจัดหาสปอนเซอร์มาได้ และมีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี
ประเด็น: สยามสปอร์ตไม่กำหนดค่าตอบแทนให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ
สยามสปอร์ต ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการทำสัญญาระบุชัดเจนถึงการกำหนดค่าตอบแทน ในสัญญาระบุว่า บริษัทฯ มีหน้าที่หารายได้ และรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนที่เหลือจะแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง แต่หากบริหารงานขาดทุน ทางบริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว
ประเด็น: สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ไม่มีอิสระในการบริหารงาน
สยามสปอร์ต ขอชี้แจงว่า การบริหารงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ แบ่งออกเป็น 3 หน่วยงาน คือ
- สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย โดยมีสภากรรมการ เป็นผู้ร่วมทำงาน
- บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด หรือทีพีแอล มีหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ โดยมีคณะกรรมการฯ เป็นผู้ร่วมทำงาน
- บริษัท สยามสปอร์ตฯ มีหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ โดยมีคณะกรรมการฯ เป็นผู้ร่วมทำงาน
ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานก็แบ่งงานกันชัดเจน ดังนั้นจึงอยากเรียนถามว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ไม่มีอิสระในการทำงานตรงไหน?
ประเด็น: สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ไม่สามารถวางแผนงบประมาณได้ด้วยตัวเอง
สยามสปอร์ต ขอชี้แจงว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีรายได้เป็นที่แน่ชัดจากหลายทาง อาทิ เงินสนับสนุนจาก ฟีฟ่า, เงินจากผู้สนับสนุนที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ หามาเอง และ ส่วนแบ่งสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นจำนวนไม่เยอะเท่าไหร่
ซึ่งในช่วงต้นปี ประมาณเดือนมีนาคม ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมฯ บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก และ บริษัท สยามสปอร์ต จะประชุมหารือ เรื่องรายรับ-รายจ่ายของแต่ละปี ซึ่งระบุชัดเจนว่าแบ่งกันคนละครึ่ง เพราะฉะนั้นทั้ง 3 หน่วยงานจะทราบตัวเลขที่ชัดเจนตั้งแต่เดือนมีนาคม และสามารถนำไปวางแผนได้ เพราะฉันนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง
สยามสปอร์ต จะดำเนินการตามสิทธิ ไม่สามารถยกเลิกกันได้โดยง่าย
อดิศัย วารินทร์ศิริกุล กล่าวด้วยว่า บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคต จำกัด (มหาชน) มีสัญญาในการเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ถึงปี 2560 ซึ่ง ณ ตอนนี้ บริษัทฯ ยังไม่ได้รับหนังสือขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ ดังนั้น หากหนังสืออย่างเป็นทางการส่งมา ก็จะดำเนินการตามสิทธิที่พึงมี
ประธานกรรมการ บริษัท สยามสปอร์ตฯ ยังกล่าวด้วยว่า พร้อมทำงานกับทุกฝ่าย แต่ก็ต้องการความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน ยอมรับว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ทันตั้งตัว เพราะจากที่ก่อนหน้านี้ สรายุทธ มหาวลีรัตน์ ได้เข้าไปพบกับ สภากรรมการ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ แต่ไม่คิดว่าจะถูกยกเลิกสัญญาผ่านสื่อมวลชน ส่วนการฟ้องร้องจะมีหรือไม่ ยอมรับว่าจะเป็นวิธีการสุดท้าย แต่เบื้องต้นหากมีหนังสือฯ มาเมื่อไหร่ อยากจะใช้วิธีการพูดคุยกันก่อน เพราะเชื่อว่ายังสามารถเจรจากันได้
สยามสปอร์ต เป็นห่วงผู้สนับสนุนที่ทำสัญญากับทางบริษัทฯ
ด้าน สรายุทธ มหวลีรัตน์ กล่าวว่า บริษัท สยามสปอร์ต รู้สึกเป็นห่วงผู้สนับสนุนที่ทำสัญญากับบริษัทฯ โดยอยากให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยังคงรักษาสัญญาของผู้สนับสนุน อาทิ ทรูวิชั่น, ไทยเบฟ, โตโยต้า, ยามาฮ่า หรือ เอไอเอส ที่จะหมดสัญญาลงในปีนี้ มิเช่นนั้น อาจมีค่าเสียหายกว่า 765 ล้านบาท หากยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด
รวมถึงเชื่อว่าการยกเลิกสัญญาฯ ที่ปรากฎตามสื่อ ไม่น่าจะเป็นการตัดสินใจของ สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ